เช้าวันงานจะเป็นช่วงที่บ่าวสาวหัวหมุนกันสุด ๆ เพราะต้องวุ่นวายกับการเตรียมตัว แถมงานหมั้นก็มีขั้นตอนพิธีเยอะแยะไปหมด ช่วงชุลมุนแบบนี้มักทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายค่ะ วันนี้ SabuyWedding เลยรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกับบ่าวสาวในเช้าวันงาน มาเตือนเพื่อน ๆ ให้ระวังและรู้วิธีรับมือไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
1. ลืมของ ต้องลิสต์ไว้
อย่าประมาทคิดว่าเราคงไม่ลืมของในวันงาน เพราะความวุ่นวายของวันจริง ทำให้บ่าวสาวลืมของกันเป็นประจำค่ะ แถมไม่ได้ลืมแค่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น บางคนลืมแหวนแต่งงานก็เคยมีมาแล้วค่ะ
วิธีรับมือ
- แพ็คของที่คนมักลืมเหล่านี้ไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นของใช้ส่วนตัวที่ลืมนึกถึง ได้แก่ คอนแทคเลนส์, น้ำตาเทียมสำหรับคนไม่ได้ใส่บ่อย, ถุงเท้ายาวสำหรับชุดหมั้นไทยเจ้าบ่าว, ถุงน่อง, แผ่นแปะจุก และของหมั้นที่เก็บแยกกับสินสอด ได้แก่ แหวนแต่งงาน และซองใส่่เงิน สำหรับประตูเงิน ประตูทองค่ะ
2. ชุดมาไม่ทัน ให้แต่งหน้ารอไปก่อน
เรื่องชุดเจ้าสาว มีหลายเหตุการณ์ที่อาจทำให้เจ้าสาวใจตุ๊มต่อมได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นนัดรับชุดเช้าวันงาน แล้วชุดมาส่งช้าหรือกระชั้นชิด, รับชุดมาแล้ว แต่คนของร้านที่จะมาช่วยใส่ให้มาสาย หรือชุดไปส่งผิดที่ก็เกิดขึ้นได้ค่ะ
วิธีรับมือ
- คอนเฟิร์มกับคนส่งชุด ก่อนวันงานให้โทรคอนเฟิร์มกับทางร้าน เรื่องวัน เวลา และสถานที่จัดงานให้เรียบร้อย
- เจ้าสาวแต่งหน้ารอไปก่อนค่ะ ทำใจเย็น ๆ และให้เพื่อนช่วยประสานงานให้ เพื่อที่พอชุดมาถึงแล้ว ใส่ปุ๊บก็พร้อมเลยค่ะ
- ควรมีคนคอยเอนเตอร์เทนแขก ไม่ให้แขกเบื่อด้วยค่ะ ยิ่งเป็นพิธีกรมืออาชีพยิ่งดี เพราะเขาจะรู้วิธีรับมือ-ถ่วงเวลาให้เราได้มากที่สุดค่ะ กิจกรรมไหนที่สามารถเริ่มได้เลย เช่น ให้แขกทานข้าว ก็สลับมาไว้ก่อนได้ค่ะ
3. หาอุปกรณ์ไม่เจอ ต้องเอามารวมกัน
พวกอุปกรณ์พิธีหมั้นที่ช่วยกันขน ไม่รู้ใครไปวางไว้ตรงไหนบ้าง เอาของมาครบหรือยัง พอจะใช้ก็ไม่รู้จะไปถามกับใครดี เพราะมันชุลมุนกันสุด ๆ
วิธีรับมือ
- เอาอุปกรณ์ต่าง ๆ มากองรวมกันที่เดียวเลยค่ะ แล้วเช็กว่าของที่ต้องใช้ในพิธีการนี้อยู่ไหม ทำเป็นเช็กลิสต์แยกแต่ละพิธีเลยยิ่งดีค่ะ
- ถ้ามีทีมรันคิว ส่งมอบให้ทีมเลยจะดีกว่าค่ะ ของจะได้ไม่ตกหล่น เขาจะจัดการให้อย่างมืออาชีพ รู้ว่าอะไรจะใช้จุดไหน ในพิธีไหน
4. แห่ขันหมากใช้เวลานาน ต้องกระชับ
ช่วงแห่ขันหมากเป็นอีกช่วงที่คุมเวลายาก เพราะเพื่อน ๆ ได้สนุกสนานเฮฮากัน เราไม่รู้ว่าเจ้าบ่าวจะใช้เวลาแต่ละด่านนานแค่ไหน บางทีเจ้าบ่าวเขินไม่ยอมเล่น หรือเล่นแต่ไม่ผ่านสักที กว่าจะครบทุกประตูก็เลยกำหนดการ กินเวลาพิธีการถัดไป คนถือขันหมากหนัก ๆ ก็ถือจนเมื่อยเลยค่ะ
วิธีรับมือ
- ครอบครัวบ่าวสาวตกลงกันก่อน ว่างานเราควรมีกี่ประตูจึงจะโอเคกันทั้งสองฝ่าย มักเป็นเลขคู่ เลขมงคล ไม่ควรมีมากเกินไป เพราะจะใช้เวลานานค่ะ
- กระซิบเพื่อนเจ้าสาวให้ช่วยกระชับเวลา อย่าโหดเกินไป ไม่ให้ผ่านสักที คนเล่นก็เหนื่อยด้วยค่ะ
- มีคนช่วยสืบข้อมูลฝั่งเพื่อนเจ้าสาว พวกคำถามที่ยากเกินไป แอบมาบอกเจ้าบ่าวให้เตรียมตัวไว้ก่อน จะได้ไม่ติดด่านนานค่ะ
- เจ้าบ่าวเตี๊ยมกับเพื่อนไว้เลย ว่าจะใครมาช่วยเล่นเกมบ้าง มีคนเต้นเก่ง ร้องเก่ง อยู่ใกล้ตัวจะดีมากค่ะ
Cr. Mildly Studio
5. ผู้ใหญ่พูดนาน ต้องมีคนตัดบท
ช่วงสู่ขอ-มอบสินสอด ที่เชิญผู้ใหญ่กล่าวสู่ขอและอวยพร บางท่านอาจแนะนำตัวและเล่าเรื่องนานเกินไป อวยพรเยอะเกิน หรือจบไม่ลงค่ะ
วิธีรับมือ
- ควรมีนายพิธีหรือพิธีกรมืออาชีพเก่ง ๆ เพราะสามารถช่วยไกด์ผู้ใหญ่ หาทางลง ขมวดปมจบสวย ๆ ให้ท่านได้
Cr. Planned by Kerd
6. แขกอยากถ่ายรูปกับบ่าวสาว ต้องกำหนดคน
แขกหลายคนอยากมีรูปถ่ายกับบ่าวสาวในช่วงพิธีการ แต่เราไม่สามารถให้ทุกคนขึ้นมาถ่ายได้ เพราะพิธีการต้องรันต่อไปให้ทันกำหนดการค่ะ
วิธีรับมือ
- ปกติเราจะเชิญแต่ญาติพี่น้องก่อน แขกจะไม่ได้ร่วมถ่ายรูปด้วยระหว่างพิธี ถ้าแขกอยากได้รูปกับบ่าวสาว ให้แจ้งว่าสามารถถ่ายหลังจบงานได้ หรือจัดเป็นเซสชั่นแยกสำหรับถ่ายรูปเลยก็ได้ค่ะ
- ถ้าญาติเยอะให้จัดเป็นกรุ๊ป เช่น ครอบครัวเจ้าสาวฝั่งคุณแม่ ครอบครัวเจ้าสาวฝั่งคุณพ่อ เพื่อความรวดเร็วตอนถ่ายค่ะ
Cr. Mildly Studio
7. กลัวแขกหิว ให้เสิร์ฟอาหารไว
แขกบางคนเดินทางมาถึงแต่เช้า บางคนก็มาช่วยงานตั้งแต่เช้ามืด บ่าวสาวอาจเป็นห่วง กลัวแค่คอฟฟี่เบรกไม่พอ และไม่อยากให้แขกหิวจนจบงาน
วิธีรับมือ
- เสิร์ฟคอฟฟี่เบรกเร็ว มีรอบอาหารเช้าก่อนงานเริ่ม อาจเพิ่มข้าวต้มเพื่อความอยู่ท้อง เพื่อให้แขกที่มาถึงได้ทานอะไรรองท้องก่อน
- เลี้ยงอาหารเพิ่ม เผื่อแขกหิวในระหว่างพิธี ยิ่งถ้าเป็นพิธีที่ยาวไปถึง 10-11 โมง ควรมีเมนูอาหารเที่ยงเพิ่มเข้าไปค่ะ
แม้วันจริงจะเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด แต่ถ้าเคยเห็นวิธีรับมือผ่านตามาบ้าง ก็จะช่วยให้เพื่อน ๆ ผ่านไปอย่างราบรื่นได้ค่ะ ใครสนใจหาเทคนิคเตรียมตัวแต่งงานเพิ่มเติม เรามีให้อ่านอีกเพียบที่นี่เลยค่ะ