เข้าสู่ Pride Month เดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ต้องบอกว่าช่วงนี้เราได้รับคำถามเกี่ยวกับการเตรียมจัดงานแต่งงานสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากในประเทศไทยอาจยังไม่มีตัวอย่างงานแต่ง LGBTQ+ มากเหมือนคู่รัก Straight ทำให้ชาว LGBTQ+ หลายคนกังวลใจว่าจะจัดพิธีออกมาถูกหลักไหม หรือยังไม่มีข้อมูลว่าจะจัดงานยังไงดี วันนี้ SabuyWedding จะมาตอบคำถามยอดฮิตที่คู่รักสงสัยกันค่ะ
1. พิธีการงานแต่ง LGBTQ+ มีอะไรบ้าง
ชาว LGBTQ+ สามารถจัดงานแต่งงานได้ทุกพิธีการตามสะดวก โดยผ่านการพูดคุยกับทางครอบครัวมาแล้วว่าแต่ละบ้านมีความเชื่อหรืออยากให้มีพิธีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพิธีหมั้นไทย หมั้นจีน แห่ขันหมาก ยกน้ำชา ส่งตัว รดน้ำสังข์ ทำบุญถวายเพล พิธีเลี้ยงฉลอง และอาฟเตอร์ปาร์ตี้ ก็สามารถจัดได้ทั้งหมดเลยค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าคู่แต่งงานมีงานแต่งในฝันของตัวเองเป็นแบบใด เช่น บางคู่อาจอยากจัดแค่ vow ceremony ทำพิธีแลกแหวนก็ทำได้ค่ะ และเชื่อได้เลยว่าไม่ว่าจะจัดงานรูปแบบไหน แขกต่างก็อยากแสดงความยินดีกับเราในทุกพิธีการแน่นอนค่ะ
2. งานแต่ง LGBTQ+ มีพิธีการทางศาสนาได้ไหม
บางคู่อาจสงสัยว่าเราจะจัดพิธีการทางศาสนายังไง แต่จริง ๆ แล้วคู่รัก LGBTQ+ สามารถไปทำบุญหรือจัดพิธีทางศาสนาได้เหมือนงานแต่งงานของคู่ Straight แบบเป๊ะ ๆ มีความเหมือนและเท่าเทียมกันในทุกพิธีการ ไม่มีความแตกต่างกันเลยค่ะ เพราะจริง ๆ พิธีเหล่านี้มีไว้เพื่อความอุ่นใจทางศาสนา และเป็นมงคลแก่คู่ของเราเท่านั้นเอง แต่ถ้าบางธรรมเนียมหรือศาสนาของแต่ละบ้านมีความละเอียดจริง ๆ ก็แนะนำให้ถอยกันคนละก้าว และหาจุดที่โอเคของทั้งสองบ้าน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายค่ะ
Cr. liliaphoto.com / loveincmag.com
3. LGBTQ+ ต้องมีสินสอดไหม ฝ่ายไหนให้ดี
สินสอดมีจุดเริ่มต้นมาจากที่สมัยก่อนผู้หญิงต้องอยู่ดูแลบ้าน ไม่ได้ออกไปทำงานเหมือนสมัยนี้ จึงทำให้เกิดธรรมเนียมฝ่ายชายมอบสินสอดให้ พอมาในยุคนี้ที่ทุกคนออกไปทำงานกันหมด เราอาจสงสัยว่าแล้วใครต้องให้ใคร ซึ่งก็ให้มองกลับไปที่วัตถุประสงค์ของสินสอดว่าใครเป็นฝ่ายที่ต้องให้หรือมีรายได้ค่ะ บางคู่อาจข้ามขั้นตอนนี้ไปเลยก็ได้ ถ้าทั้งสองตกลงกันว่าจะไม่มีสินสอด หรือบางคู่ก็เลือกที่จะเก็บรวมเงินแล้วมอบให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นของขวัญตอบแทนจากลูก ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียค่ะ
4. งานแต่ง LGBTQ+ ใครยกขบวนขันหมาก
หากอยากยึดตามธรรมเนียมของการแห่ขบวนขันหมาก อาจเลือกฝ่ายที่มี masculinity หรือมีความเป็นชายมากกว่าเป็นฝ่ายยกขันหมากค่ะ หรือหากไม่มีความรู้สึกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเป็นชายหรือเป็นหญิงมากกว่ากัน ก็สามารถใช้การตกลงกันได้ว่าใครอยากทำพิธีในส่วนนี้ค่ะ
5. งานแต่ง LGBTQ+ ใครสวมแหวนหมั้นก่อน
เช่นเดียวกับการยกขันหมาก หากดูตามธรรมเนียมเดิมอาจยึดจากฝ่ายที่มี masculinity หรือไม่ก็อาจเกิดจากการตกลงกัน เช่น ให้ฝ่ายที่อายุมากกว่าเป็นฝ่ายสวมก่อน, ให้ฝ่ายที่มีความเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าครอบครัวสวมก่อน หรือจะให้ฝ่ายที่มี femininity หรือความเป็นหญิงมากกว่าสวมก่อน คล้ายคอนเซปต์ lady first ก็ได้เช่นกันค่ะ
Cr. brides.com / loveincmag.com
6. ชุดแต่งงานของ LGBTQ+ ใส่แบบไหนดี
ปัจจุบันมีทางเลือกเยอะมากสำหรับคู่แต่งงาน LGBT ไม่ว่าจะเป็นชุดสูทคู่ ชุดเจ้าสาวคู่ ชุดสูทและชุดเจ้าสาว โดยไม่มีแค่รูปแบบที่จำเจเท่านั้น ชุดสูทก็สามารถหวานได้ ชุดเจ้าสาวก็สามารถเท่สมาร์ทได้ จะเลือกใส่ตามอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity), เพศวิถี (Sexual orientation) หรือตามรสนิยมความชื่นชอบ คู่แต่งงานก็มีความอิสระในการเลือกได้ตามใจเลยค่ะ
7. LGBTQ+ จดทะเบียนได้หรือยัง
หลังการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมอย่างยาวนาน ในที่สุด LGBTQ+ ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้และมีผลทางกฎหมายแล้ว ในชื่อพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมค่ะ โดยได้รับสิทธิหลายอย่างให้เท่าเทียมกับคู่แต่งงานชายหญิง เช่น สินสมรส หนี้สมรส และการดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายค่ะ
8. ชีวิตหลังการแต่งงานของ LGBTQ+ เป็นยังไง
สำหรับชีวิตหลังแต่งงาน ตอนนี้มีเทรนด์ที่หลายคู่เลือกเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเป็นลูก เริ่มต้นจากการเป็น Pet Parents มีสิ่งที่เรารักและดูแลร่วมกันก่อน เพราะบางคู่อาจไม่เคยอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ทำให้มีหลายเรื่องที่ต้องปรับตัว ดังนั้นไม่จำเป็นว่าแต่งแล้วจะต้องอุปการะเด็ก หากยังไม่พร้อมดี ยังมีขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่าง หรือว่าคู่ไหนที่อยากอยู่ด้วยกันแค่สองคน ก็ไม่มีทางเลือกไหนที่ผิดค่ะ
ในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าและยอมรับความเท่าเทียมกันมากขึ้น SabuyWedding อยากสนับสนุนให้เพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเพศไหน ได้จัดงานแต่งงานตามฝัน และอยากเห็นคู่รัก LGBTQ+ ในไทยได้สร้างความทรงจำดี ๆ ผ่านการแต่งงานกันมากขึ้นค่ะ หรือหากเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยในการจัดงานแต่งงาน ก็สามารถอ่านบทความบนเว็บไซต์ของเราเพื่อเป็นตัวช่วยได้เลยค่ะ